สทร. เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายการผลิตรถไฟมาตรฐานสากลภายในประเทศ

การผลิตรถไฟมาตรฐานสากล เพื่อใช้ในประเทศได้อย่างปลอดภัย และส่งออกไปต่างประเทศได้ จำเป็นต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตและความปลอดภัยจากหน่วยงานรับรองมาตรฐานสากล (Railway Standard) เช่นเดียวกับเครื่องบิน

.

ในอดีต ประเทศไทยเคยผลิตรถไฟได้ด้วยตนเอง จนยุติและเน้นการจัดซื้อจากต่างประเทศแทน ทำให้ขีดความสามารถด้านการออกแบบ วิศวกรรมและการผลิตของประเทศลดลง จนเหลือเพียงการซ่อมบำรุงและรักษา

ที่ผ่านมา จากการที่เน้นการซื้อรถไฟเป็นหลัก (หัวรถจักร, รถไฟดีเซลราง, รถโบกี้โดยสาร และรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า เป็นต้น) ทำให้ต้นทุนในการจัดหาสูง ปริมาณรถไฟไม่เพียงพอ ไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากถนนสู่รางได้ (Shift Mode)

.

การผลิตรถไฟมาตรฐานสากล จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตขั้นสูงจากเจ้าของเทคโนโลยี รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาต่อยอดได้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และทูร์เคีย (ตุรกี) เป็นต้น การผลิตรถไฟได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ คือ

1. มีเทคโนโลยีการออกแบบและวิศวกรรมเป็นของตนเอง (Design and Engineering Technology)

2. มีโรงงานผลิตรถไฟที่ทันสมัย (Manufacturing Facility)

3. มีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ได้มาตรฐาน (High-Quality Supply Chain)

ทั้งสามองค์ประกอบนี้ ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งและมีความพร้อมที่จะปรับโครงสร้างการผลิตบางส่วน จากอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟได้ (New S-Curve) หากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟที่ทันสมัย

.

การผลิตรถไฟมาตรฐานสากลด้วยตนเอง เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจ New S-Curve ใหม่ให้กับประเทศ ด้วยเหตุนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงเยือนสาธารณรัฐอิตาลี เพื่อหารือถึงการพัฒนาความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างไทย-สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2567 นำมาสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “Cooperation in the Empowering Innovation and Development of Rail Technology” ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) และบริษัท Blue Engineering S.r.l ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำทางด้าน Transportation Design & Engineering โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Railway จากประเทศอิตาลี ที่มีผลงานการถ่ายทอดเทคโนโลยีเป็นที่ประจักษ์ ในประเทศทูร์เคียและอินเดีย เป็นต้น จนทำให้ประเทศเหล่านี้สามารถผลิตรถไฟเพื่อให้บริการในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้ด้วยเทคโนโลยีของตนเอง

.

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้เกียรติเป็นผู้นำคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงคมนาคม (ปลัดกระทรวงคมนาคม, ผู้ว่าฯ รฟท. และ ทีม สทร.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ผอ.สถาบันยานยนต์ และผอ.ศูนย์เทคโนโลยีฯ) ไปเยี่ยมชมเพื่อหารือและเรียนรู้ความสำเร็จของการผลิตรถไฟที่ได้รับมาตรฐานยุโรปของประเทศทูร์เคีย จากการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จนกระทั่งสามารถผลิตรถไฟได้ในทุกรูปแบบ มีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 20% ในปัจจุบันกำลังผลิตรถไฟที่ความเร็วสูง 225 กม./ชม. ด้วยตนเอง

การเยี่ยมชมของคณะผู้แทนไทย โดยมีเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา (นายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง) ช่วยประสานความร่วมมือและเข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานของตุรกี (H.E. Mr. Osman Boyraz) นายกเทศมนตรีเมืองซากายา คณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของบริษัท TÜRASAŞ รวมทั้งการซักถามในรายละเอียด ตลอดจนเยี่ยมชมโรงงาน โดยสาระสำคัญของหารือถึงเรื่อง

1. ที่มาและการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟ

2. เทคโนโลยีการผลิตรถไฟมาตรฐานยุโรป

3. ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)

4. กระบวนการผลิตหัวรถจักรและตู้รถไฟ และการประกอบชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของรถไฟ

5. การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี (Technology Transfer)

6. การพัฒนาบุคลากรและการจัดการองค์ความรู้

ด้วยเหตุนี้ สทร. จึงได้รับมอบภารกิจสำคัญจากกระทรวงคมนาคม ให้เป็นแกนหลักในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตรถไฟมาตรฐานสากลจากต่างประเทศ โดยทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป้าหมายเริ่มต้น ภายในปี 2569 จะผลิตรถไฟต้นแบบ (1) หัวรถจักร (2) รถโบกี้โดยสาร (3) รถไฟดีเซลราง และ (4) รถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า ให้เป็นไปตามมาตรฐานยุโรป เพื่อการส่งออกในอนาคต รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมการผลิตรถไฟ (Supply Chain Conversion)

Follow me!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *