สทร. ร่วมกับ ม.มหิดล ศึกษาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางและโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนแคร่
วันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. นำโดย นายวัชรชาญ สิริสุวรรณทัศน์ ที่ปรึกษา สทร. พร้อมด้วยคณะทำงานและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 20 ท่าน ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ บริษัท เอเชียเอ็นจิเนียร์ริ่ง แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด และ ศูนย์อุตสาหกรรมอิตาเลียนไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) อ.วิหารแดง จ.สระบุรี
.
การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิเคราะห์ศักยภาพการขนส่งสินค้าและโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนแคร่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของระบบรางไทยและแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางสำหรับการขนส่งสินค้า ตามภารกิจสำคัญของกระทรวงคมนาคม ในการส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางซึ่งใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยและใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ โดยการศึกษาดูงานดังกล่าวได้รับการต้อนรับและบรรยายสรุปโดยนายเฉลิมทรัพย์ เลี่ยวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอเซีย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์เซอร์วิช (ไทยแลนด์) จำกัด (AES) และนายช่างจิตต์ เลวรรณ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
.
ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะทำงานได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการด้านระบบราง (Rolling Stock) ที่มีภารกิจหลักในการบำรุงรักษา การซ่อมและสร้างขบวนรถไฟ (Car Body) หลายประเภท ตลอดจนชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ (Parts) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ และมีคุณสมบัติที่จะเป็นพันธมิตรที่สำคัญภายใต้กรอบโครงการความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม (Industrial Collaboration Program: ICP) ปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาเยี่ยมชมโรงงานผลิตประเเจทางหลีก โรงงานหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตสําเร็จรูปสำหรับงานก่อสร้างระบบราง ATO-Asia Turnouts Co., Ltd. เช่น หมอนคอนกรีต หมอนประแจ ผนังอุโมงค์รถไฟใต้ดิน คานรูปกล่องสำหรับทางรถไฟยกระดับ เป็นต้น ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ โรงงานผลิตและซ่อมแซมล้อเลื่อนรถไฟ โรงเชื่อมรางยาว ASIAN RAIL COMPANY LIMITED (ARC) ที่เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจงานซ่อมบำรุงทางรถไฟ และการซ่อมแซมเครื่องจักรบำรุงทางรถไฟ
.
การร่วมมือระหว่าง สทร. กับมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการนี้ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนแคร่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งของประเทศ และสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
.
นอกจากนี้ การศึกษาดูงานครั้งนี้ยังเป็นโอกาสในการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลและข้อค้นพบจากการศึกษาดูงานครั้งนี้จะนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในอนาคต และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล