แนวทางการพัฒนาศักยภาพด้านระบบรางของประเทศไทย
สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางได้ทำการนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจลงพื้นที่มาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะที่จะเป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพด้านระบบรางของประเทศ สรุปดังนี้
ภาคการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างประเทศ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในประเทศไทยควรมีการดำเนินงานเชิงบูรณาการในโครงการขนส่งสินค้าทางรางแบบควบคุมอุณหภูมิ ให้มีการร่วมมือพัฒนาเครือข่ายการขนส่งทางราง มีการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางระหว่างประเทศไทย – ลาว – จีน รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างประเทศลาวและจีน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการส่งออกสินค้าด้วยการขนส่งสินค้าทางราง โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นและมีความสำคัญอย่างมากของประเทศไทย
นำเสนอแผนเชิงนโยบายสำหรับรองรับการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาไทย รวมถึงการส่งออกสินค้าทางรางแบบควบคุมอุณหภูมิ ควรมีการสำรวจศึกษาข้อมูลประเภทของตู้ขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบันทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อให้ทราบถึงความสามารถและข้อจำกัดของตู้ขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศไทย
ควรมีการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการขนส่งสินค้าเข้าและออกจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ทราบถึงสภาพโครงข่ายการขนส่งสินค้าในปัจจุบันในทุกรูปแบบของการคมนาคมและขนส่ง และเพื่อให้สามารถนำไปเป็นข้อมูลในการประมาณการความต้องการขนส่งสินค้าในอนาคต และคาดการณ์ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งสินค้าจากระบบอื่นมาเป็นระบบราง
ควรมีการส่งเสริมและผลักดันความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้สามารถพัฒนาต้นแบบตู้ควบคุมอุณหภูมิ ตอบสนองความต้องการการขนส่งสินค้าทางระบบรางโดยเฉพาะความต้องการขนส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อส่งเสริมภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงระบบการขนส่งทางราง ซึ่งมีคุณภาพและมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำเมื่อเทียบกับการขนส่งประเภทอื่น
ด้านมาตรฐานของระบบราง
ด้วยข้อจำกัดทางโครงสร้างโยธา ที่ใช้มาตรฐานรางไม่เหมือนกันส่งผลให้องค์ประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ชุดแคร่ (Bogie) โปรไฟล์ล้อและราง (Rail/Wheel Profile) เขตโครงสร้าง (Structure Gauge) ที่แตกต่างกันและไม่สามารถใช้ทางร่วมกันได้ จึงควรมีพื้นที่รองรับการเปลี่ยนถ่ายระบบรางที่มีมาตรฐาน สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายระบบรางระหว่างขนาดความกว้าง 1 เมตร และ 1.435 เมตร ได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายสินค้านำเข้า ส่งออก และสินค้าผ่านแดนระหว่างประเทศ
การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ควรออกแบบให้มาตรฐานทางด้านโครงสร้างสามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว ได้ โครงสร้างของสะพานต้องสามารถรองรับน้ำหนักกดเพลาได้สูงกว่า 25 ตัน/เพลา เพื่อรองรับน้ำหนักของตู้ขนส่งสินค้ารถไฟจีน – ลาว รวมถึงต้องรองรับทางรถไฟทั้งขนาดความกว้าง 1 เมตร และ 1.435 เมตร เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมต่อของระบบการเดินรถไฟไทย – ลาว – จีน เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าภายในบริเวณพื้นที่ฝั่งไทยได้
ด้านเศรษฐกิจและศุลกากร
สร้างนโยบายเพื่อลดปัญหาต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งที่จำเป็นและที่ไม่จำเป็น เช่น ต้นทุนพิธีศุลกากร ต้นทุนสำหรับการใช้พื้นที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ ต้นทุนสำหรับการใช้รถบรรทุกในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากรถไฟระหว่าง Meter Gauge และ Standard Gauge ต้นทุนสำหรับการยกสินค้าขึ้น – ลง จากแคร่รถไฟ จะสามารถกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในประเทศหันมาใช้บริการส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขนส่งทางรางมีต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ถูกกว่ารวมทั้งสร้างมลพิษน้อยกว่าระบบการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนและควบคุมต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมดได้
ควรมีการส่งเสริมสินค้าส่งออกที่ผลิตภายในประเทศไทย
โดยสินค้าที่ผลิตภายในประเทศจะให้ผลตอบแทนจากทุกกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานทั้งในภาคการผลิต และภาคการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของห่วงโซ่อุปทานมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศ
ด้านบุคลากรระบบราง
ควรมีการออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับจัดการเรียนการสอนในตำแหน่งพนักงานขับรถไฟสำหรับชาวลาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดเดินรถไฟระหว่างประเทศไทย – ลาว ในเส้นทางหนองคาย -เวียงจันทน์ เนื่องจากอาณาเขตการเดินรถของประเทศไทยสิ้นสุดที่สถานีท่านาแล้ง ซึ่งห่างจากสถานีปลายทางสถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เป็นระยะทาง 7.5 กิโลเมตร จึงจำเป็นมีคนขับรถไฟสัญชาติลาว รับช่วงต่อการขับรถไฟในระยะทางต่อขยายดังกล่าว
ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้เรียนสัญชาติลาวในตำแหน่งพนักงานขับรถไฟได้ ควรมีการพิจารณาเรื่องการทำความตกลงระหว่างประเทศให้มีการสนับสนุนนโยบายหรือการคุ้มครองผู้ปฏิบัติการเดินรถในการขับขบวนรถไฟต่อเนื่องไปยังช่วงต่อขยายปลายทางที่สถานีบ้านคำสะหวาด (เช่น พนักงานขับรถไฟ ช่างเครื่อง พนักงานห้ามล้อ หรือ พนักงานรักษารถ เป็นต้น)
คณะผู้จัดทำบทความ
1) นางเยาวลักษณ์ สุนทรนนท์ ที่ปรึกษา
2) นางสาวภัทรสุดา วิชยพงศ์ นักวิจัยวิชาการอาวุโส
3) นางสาวอุมา พงษ์กิจเดชโชติ นักวิจัยวิชาการ
4) นางณิชาภัทร เบลค นักวิจัยวิชาการ
5) นายธีรภัทร ภู่เกิด นักวิจัยวิชาการ
6) นายเกียรติภูมิ น้อยสุวรรณ์ นักวิจัยวิชาการ
7) นางสาวพิมพ์ชนก แป้นไทย นักวิเคราะห์วิชาการ
8) นางสาวพาขวัญ พูนจิตรบริสุทธิ์ นักเทคโนโลยีวิชาการ