สทร. ร่วมกับ หัวเว่ย ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือ เพื่อพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสําหรับอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสําหรับระบบการขนส่งทางราง ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จํากัด
ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ณ อาคาร จี ทาวเวอร์ สำนักงานใหญ่บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กรุงเทพฯ โดยมี นายสันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. และนายเควิน เฉิง (Mr.Kevin Cheng) ประธานกลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) บจก. เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และนายโชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการ สทร. นายเอดิสัน ซู (Mr.Edison Xu) ประธานกรรมการ บ.หัวเว่ย ร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร.ชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางรางครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษ เช่น การขยายเส้นทางโครงข่ายรถไฟทางคู่ การพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง ตลอดจนการปรับปรุงระบบอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในด้านเทคโนโลยีระบบราง จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ด้านระบบมาตรฐานและการทดสอบ และด้านพัฒนากำลังคนเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม จากเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม เพื่อเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง บูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ และมีพันธกิจที่สำคัญหลายประการ เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร และเป็นศูนย์กลางในการรับแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของประเทศและภูมิภาค
บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายและโทรคมนาคม และผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) และอุปกรณ์อัจฉริยะชั้นนำระดับโลก ทั้งนี้ ด้วยองค์ความรู้ ประสบการณ์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีในปัจจุบัน รากฐานของธุรกิจ ICT รวมถึงความตั้งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาบุคลากรและการฝึกอบรม หัวเว่ยจึงเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยี ICT สำหรับอุตสาหกรรมระบบรางโดยการจัดฝึกอบรมหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับผู้ที่ทำงานในระบราง (Reskill Training) และหลักสูตรเทคโนโลยี ICT ขั้นสูงสำหรับผู้ที่จะเข้าสู่การประกอบอาชีพในระบบรางในอนาคต (Advanced Technical Training) รวมถึงการร่วมวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) เพื่อการขนถ่ายและกระจายสินค้าในระบบราง
การลงนามความร่วมมือระหว่าง สทร. และ หัวเว่ย ในครั้งนี้จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการเตรียมความพร้อมและสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมระบบราง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริหารจัดการด้านคมนาคมขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ผลักดันประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)