สทร. ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางและโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนแคร่

วันที่ 17-18 ตุลาคม พ.ศ. 2567 – สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. นำโดย นายวัชรชาญ สิริสุวรรณทัศน์ ที่ปรึกษา สทร. พร้อมด้วยคณะทำงาน ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน ณ สถานีรถไฟศูนย์กระจายสินค้าทางรางท่าเรือแหลมฉบัง และสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (ICD ลาดกระบัง) เมื่อวันที่ 17 และ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ตามลำดับ

การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “วิเคราะห์ศักยภาพการขนส่งสินค้าและโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนแคร่” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของระบบรางไทยและแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางสำหรับการขนส่งสินค้า โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Mode Shift) จากถนนสู่ราง ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะทำงานได้ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการขนส่งสินค้าทางรางที่เชื่อมโยงกับการขนส่งทางเรือ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อแบบ Multimodal ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาแนวคิดการพัฒนา Dry Port ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งภายในแผ่นดินที่เชื่อมโยงการขนส่งหลายรูปแบบ โดยเฉพาะทางรางและทางเรือ อันจะช่วยลดความแออัดที่ท่าเรือ เพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค

การร่วมมือระหว่าง สทร. กับมหาวิทยาลัยมหิดลในโครงการนี้ มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนแคร่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งของประเทศ และสนับสนุนการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ การศึกษาดูงานครั้งนี้ยังเป็นโอกาสในการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในระบบราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของประเทศไทย

ข้อมูลและข้อค้นพบจากการศึกษาดูงานครั้งนี้จะนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางอย่างยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศในอนาคต และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับสากล

Follow me!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *