สทร. ปั้นเด็กไทยพลิกโฉมรถไฟแห่งอนาคต ชูเทคโนโลยีระบบรางสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จัดประกวดไอเดีย “รถไฟในฝัน” ระดับเยาวชน เตรียมสร้างคนรองรับอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเร่งจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางแบบบูรณาการ

.

วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ห้องบอลรูม B โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้แถลงเปิดตัวโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” (Think Beyond Track) ซึ่งเป็นการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชนในหัวข้อ “รถไฟในฝัน” พร้อมเปิดวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สทร. ในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ

.

ดร.จุลเทพ เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นกิจกรรมนำร่องของ สทร. ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และมีพันธกิจสำคัญด้านหนึ่งคือ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ จึงได้ริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบราง โดยพุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา อายุระหว่าง 16-22 ปี ในจังหวัดที่มีรถไฟสายหลักวิ่งผ่าน ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดภายใต้หัวข้อ “รถไฟในฝัน” โดยมีรางวัลเป็นเงินทุนการศึกษารวม 420,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเยาวชนในการคิดสร้างสรรค์และนำเสนอไอเดียที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต โดยผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ทางเว็บไซต์ www.คิดใหญ่ไปให้สุhttp://xn--72cz8b4c.net/

.

“ภารกิจหลักของ สทร. คือ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของไทย เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถยกระดับขีดความสามารถของไทยให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระบบรางในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมระบบราง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต เราจึงริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์การพัฒนาระบบราง และหวังว่ากิจกรรมนำร่องครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบราง และมองเห็นโอกาสด้านอาชีพในอุตสาหกรรมใหม่นี้” ดร.จุลเทพ กล่าว

.

นอกจากนี้ ดร.จุลเทพ ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของ สทร.ว่า สทร. เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงคมนาคม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ.2564 เพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน ในการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยมีภารกิจหลักที่สำคัญคือ การสร้างยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับกระทรวง โดยบูรณาการทิศทางและความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย ส่วนของผู้กำหนดนโยบาย ส่วนของผู้เดินรถและอุตสาหกรรม และส่วนของนักวิจัย/นักวิชาการ ให้ครอบคลุมทั้งบริบทด้านเทคโนโลยีระบบราง บริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดลำดับความสำคัญอย่างชัดเจนและเป็นระบบ พร้อมกำหนด Roadmap ตัวชี้วัด มาตรการ กลไก และผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศการสร้างอุตสาหกรรมระบบราง

.

ภารกิจหลักของ สทร. ยังประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างมาตรฐานระบบรางและระบบการทดสอบด้านระบบราง การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบรางด้วย

.

ที่ผ่านมา สทร. ได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบราง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรผ่านการฝึกอบรม และการส่งเสริมหลักสูตรด้านการศึกษาเกี่ยวกับระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบรางซึ่งใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยและใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ อีกทั้งยังมีการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในเบื้องต้นว่า จะสามารถเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบรางตามมาตรฐานระดับโลกได้หรือไม่

.

“ตอนนี้ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า การสร้างอุตสาหกรรมระบบรางโดยอาศัยเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทย จะสามารถช่วยแก้ปัญหาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้อีกทางหนึ่ง และอุตสาหกรรมนี้จะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ผอ. สทร. กล่าวทิ้งท้าย

Follow me!

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *