สทร. ร่วมกับCRRC ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “Cooperation in the Empowering Innovation and Talent Development in the Rail Transport Sector”
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายโชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) เป็นประธานและสักขีพยานร่วมกับ นายหลิว ฉางชิง (Mr.Liu Changqing) ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท CRRC Changchun ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Cooperation in the Empowering Innovation and Talent Development in the Rail Transport Sector เพื่อขับเคลื่อนการวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ร่วมกับ CRRC Changchun Railway Vehicles Company Limited (CRRC Changchun) ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมี นายสันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. และนายซา เหมียว (Mr.Sha Miao) รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท CRRC Changchun เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
นายสันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. กล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของการก่อตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) โดยกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายอย่างมุ่งมั่นที่จะบูรณาการความเชี่ยวชาญจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบราง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบรางในประเทศไทยทั้งในด้านการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมรางภายในประเทศ เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การขนส่ง การท่องเที่ยว และการเชื่อมโยงระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้เป้าหมายสำคัญที่ได้กล่าวมาบรรลุผลสำเร็จ ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาภายใต้การกำกับของกระทรวงคมนาคม สทร. จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมาใช้งานในระบบรางของประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ ความร่วมมือในครั้งนี้กับ CRRC ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือที่เน้นเรื่องพัฒนาความก้าวหน้าเทคโนโลยี นวัตกรรม ระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ
และการสนับสนุนอุตสาหกรรมระบบราง ที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรม ได้แก่
1) การถ่ายโอนและแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคนิคและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
2) เพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง
3) ความร่วมมือด้านการวิจัยด้านเทคโนโลยีระบบราง
4) การพัฒนามาตรฐานระบบรางและระบบทดสอบ
ด้าน นายโชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันฯ กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่างระบบรางของประเทศไทยที่มีการดำเนินงานร่วมกับ บริษัท CRRC Changchun มาเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้มีความสัมพันธ์อันดีมาโดยตลอด ทั้งนี้ การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย นอกจากการ ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางระหว่างสองประเทศ การให้ความสำคัญต่อการเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างประเทศไทยไปสู่ประเทศจีน และการเชื่อมโยงไปยังทวีปยุโรปและแอฟริกาใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ และทำให้สามารถเชื่อมต่อการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าได้อย่างไร้พรมแดนได้ในอนาคต
นายหลิว ฉางชิง (Mr.Liu Changqing) ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท CRRC Changchun กล่าวว่า บริษัท CRRC Changchun เป็นบริษัทย่อยที่ใหญ่ที่สุดภายใต้ CRRC Corporation Limited ซึ่งมีพันธกิจหลักในด้านการวิจัย พัฒนา ผลิต บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ และระบบสำหรับการตรวจติดตามและประเมินผล ในการขนส่งผู้โดยสารทางราง รวมทั้งยังให้ความสำคัญต่อพลังงานที่จะถูกนำมาใช้งานในอนาคต สำหรับในประเทศไทย บริษัท CRRC Changchun มีโอกาสได้เข้าร่วมดำเนินการในหลายโครงการของประเทศไทย และเชื่อว่าการดำเนินโครงการร่วมกันที่ผ่านมา ส่งผลทำให้เกิดการพัฒนาด้านการขนส่งทางรางของประเทศไทย นอกจากในด้านธุรกิจแล้ว บริษัท CRRC Changchun ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาความเชี่ยวชาญให้แก่ นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบรางของประเทศไทย ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้โครงการที่จัดขึ้นของมหาวิทยาลัยที่เป็นพันธมิตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของทั้งสองประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต
การผนึกกำลังภายใต้ “บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Cooperation in the Empowering Innovation and Talent Development in the Rail Transport Sector” ในครั้งนี้ จึงเป็นความสัมพันธ์อันดี เพื่อที่จะร่วมมือกันส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยให้ตอบโจทย์การพัฒนาระบบรางของประเทศ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมไปถึงการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้เป็นไปอย่าง มั่นคง ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม