สทร. ร่วมกับ ม.มหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ
วันที่ 30 มกราคม 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ โดยมี รศ. ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการ สทร. เป็นผู้ลงนามร่วมกับ โดย ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยพยานผู้ร่วมลงนามของทั้ง 2 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย กรรมการ สทร. และ รศ. ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดจนที่ปรึกษา สทร. ได้แก่ รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ และ Mr.Yannick Jacob อีกทั้งผู้บริหาร และคณาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมไปถึงบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ณ Mahidol Learning Center ห้อง 217 มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการ สทร. กล่าวถึง เป้าหมายในการพัฒนาระบบรางของประเทศเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ โดยทุกภาคส่วนของประเทศต้องเข้ามาร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่สามารถผลิตชิ้นส่วน และซ่อมบำรุงทดแทนการนำเข้า รวมไปถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เกิด Local Content ระบบราง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านชิ้นส่วนอะไหล่เพื่อรองรับความจำเป็นด้านการซ่อมบำรุงที่ขยายตัวในอนาคต ซึ่งการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศอย่างเช่นมหาวิทยาลัยมหิดลในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย อีกทั้งเพื่อผลักให้เกิดความเป็นเลิศทางวิชาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบรางที่นำไปสู่การปฏิบัติจริง และเป็นการร่วมขับเคลื่อนตอบโจทย์การพัฒนาตามทิศทางของประเทศอย่างแท้จริง
โดย ศ. นพ.บรรจง มไหสวริยะ ได้กล่าวถึง การลงนามในความร่วมมือ ว่าถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันด้านระบบราง นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต
ซึ่งการลงนามในทึกข้อตกลงนี้มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงาน ตลอดจนสร้างความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางที่เป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ให้เป็นประตูแห่งโอกาสที่เชื่อมเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่เวทีโลก ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางของไทยสู่ระดับสากล