สทร. ร่วมกับ มช. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ
วันที่ 22 มกราคม 2567 สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ โดยมี รศ. ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการ สทร. เป็นผู้ลงนามร่วมกับ ศ. ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วยพยานผู้ร่วมลงนามของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่ประกอบไปด้วย ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย กรรมการ สทร. ดร.กานต์รวี ทองพูล รองผู้อำนวยการ (รักษาการแทนผู้อำนวยการ สทร.) รศ. ดร.ธงชัย ฟองสมุทร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ. ดร.รุจิรา อุ่นเจริญ คณบดีวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนที่ปรึกษา ผู้บริหาร และบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ณ ห้องประชุมพระยาศรีวิสารวาจา อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการ สทร. กล่าวถึงภารกิจที่ สทร. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายในการพัฒนาระบบรางของประเทศ เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่และหากดำเนินการได้สำเร็จจะสร้างคุณูปการต่อประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การบูรณาการความเชี่ยวชาญและระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนของประเทศเข้ามาร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการคมนาคมอย่างรอบด้าน และสร้างคุณค่าให้กับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชนในเชิงประจักษ์ จึงเป็นหมุดหมายหลักที่สำคัญ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบรางของประเทศไทย ให้เป็นประตูแห่งโอกาสที่เชื่อมเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่เวทีโลก ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางของไทยสู่ระดับสากล
ศ. ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวเสริมถึงการลงนามในวันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ด้านระบบรางไปสู่การใช้ประโยชน์ภายในประเทศ ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงาน โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกรอบและวิธีการทำงาน เครื่องมือที่ใช้สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) ที่นำไปสู่การส่งเสริมปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต
ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการผนึกกำลังพันธมิตร มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาที่ทันสมัย ที่จะทำให้เกิดทีมวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ พร้อมทั้งเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้เชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ที่เป็นหน่วยงานพันธมิตร และกระทรวงคมนาคม นอกจากนี้ ในลำดับต่อไปจะได้ดำเนินการกำหนดรายละเอียดในการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และร่วมสร้างมาตรฐานไทยในชิ้นส่วนระบบรางที่มีศักยภาพ เป็นการผลักดันให้เกิด Local content ที่เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมระบบรางต่อไป