พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ
ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กับ บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

วันที่ 7 สิงหาคม 2566 สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) กระทรวงคมนาคม หรือ สทร. กับ บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ WCE ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) โดยมีผู้บริหาร บุคลากร ตลอดจนนักวิชาการเครือข่ายของ สทร. ร่วมเป็นสักขีพยาน

คุณกิตติศักดิ์ มาพะเนาว์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง กล่าวถึงความร่วมมือว่า สทร. เป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง บูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ

สอดคล้องกับบริษัท WCE ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมมากกว่า 20 ปี และมีนโยบายที่มุ่งมั่นในการเข้าสู่งานด้านวิศวกรรมระบบรางอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วยความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบราง ด้านการพัฒนาระบบการจัดทํามาตรฐานและการทดสอบ ด้านการผลิตชิ้นส่วน และพัฒนาบุคลากรระบบราง

ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ สทร. ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อความร่วมมือว่า สทร. ได้เริ่มทำงานกับ บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ WCE ซึ่งนำโดย คุณกิตติศักดิ์ มาพะเนาว์ กรรมการผู้จัดการ และทีมงาน ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าบริษัท WCE เป็นองค์กรที่มีความสามารถสูง มีความตั้งใจแน่วแน่ มีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งให้เกิดผลงานเชิงประจักษ์ และมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้บุกเบิกทำเรื่องใหม่ๆ เพื่อยกระดับความสามารถทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางของประเทศมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมา สทร. และบริษัท WCE ได้เริ่มทำงานร่วมกัน เช่น การพัฒนาระบบทดสอบรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าที่บริษัทผลิตขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนระบบรางที่สามารถผลิตขึ้น

ภายในประเทศตามนโยบาย Thai First ของกระทรวงคมนาคม และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าทางรางที่จะนำไปสู่การเพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย

การลงนามในครั้งนี้ นับเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศในการขยายผลการดำเนินงานระหว่างทั้ง 2 หน่วยงาน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน และยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีระบบรางของประเทศให้มีความก้าวหน้าด้วยพลังของทุกภาคส่วนซึ่งเป็นแนวทางที่มีความยั่งยืน อนึ่ง สทร. ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจะมีบทบาทขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของประเทศโดยเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานนโยบาย ผู้เดินรถ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม หน่วยวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

Follow me!