บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 แห่งภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย
กระทรวงคมนาคมจับมือกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 บริษัท ลงนาม MOU ผนึกกำลังร่วมพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ H.E. Mr.Thierry Mathou เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เป็นประธานและสักขีพยานร่วม ในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ “ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค” ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธี ในวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ให้เป็นกรอบทิศทางการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้เดินหน้าไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ควบคู่กับแผนยุทธศาสตร์ กระทรวงคมนาคม โดยบูรณาการแผนงาน โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพบริการเทียบเท่ามาตรฐานสากล เชื่อมโยงการเดินทางขนส่งสินค้าจากตะวันตกถึงตะวันออก และเหนือสู่ใต้ รองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในภูมิภาคอาเซียน พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลิตและพัฒนาบุคลากร ตลอดจนส่งเสริมการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม ครอบคลุมทุกมิติ จึงได้จัดตั้ง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ขึ้น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม พร้อมรับรองมาตรฐาน ระบบการทดสอบ และประเมินคุณภาพระบบราง รวมถึงเป็นศูนย์กลางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของภูมิภาค ตลอดจนพัฒนาบุคลากร และจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบราง โดยเริ่มต้นจากการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือปฏิญญาไทย – ฝรั่งเศส ว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่ง โดยได้ลงนามปฏิญญาแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในสาขาคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564
สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือการผนึกกำลังพัฒนาศักยภาพบุคลากร เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) และกลุ่มอุตสาหกรรมระบบรางจากประเทศฝรั่งเศส 5 บริษัท ประกอบด้วย
- บริษัท อีจีส เรล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และมีระบบการควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน
- บริษัท อัลสตอม ผู้นำด้านการคมนาคมขนส่ง ด้วยระบบเทคโนโลยีอันทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- บริษัท วอสส์โลห์ โคจิเฟอร์ เอส.เอ ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับระบบราง ทั้งส่วนประกอบหลัก การปรับแต่งโมดูล และการดูแลรักษา
- บริษัท ซิสตร้า เอ็ม วี เอ (ไทยแลนด์) จำกัด กลุ่มวิศวกรรมและที่ปรึกษา ซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านคมนาคมและการขนส่งระดับโลก ครอบคลุมงานก่อสร้าง ระบบอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม การออกแบบสถานี และระบบตั๋วโดยสาร
- บริษัท โพมา เอสเอเอส ผู้เชี่ยวชาญการผลิตกระเช้าลอยฟ้า และให้บริการระบบขนส่งทั้งในเมือง พื้นที่ในหุบเขา พื้นที่ท่องเที่ยว และระบบการขนส่งในโรงงาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันที่เป็นรูปธรรมในเรื่องต่าง ๆ ได้แก่ 1) การสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากรระบบราง หรือ Rail Academy ที่เป็นกลไกการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทั้งระดับช่างเทคนิคทักษะสูง และระดับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ โดยร่วมกับสถาบันและหน่วยงานเครือข่าย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง 2) การสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนฝรั่งเศสและภาคเอกชนของไทยเพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศ หรือ Local Content ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย Thai First ของ กระทรวงคมนาคม โดยไม่เพียงแค่ผลิตได้ แต่คาดหวังให้เกิดผู้ประกอบการไทยที่มีความเข้มแข็ง และสามารถแข่งขันในเวทีโลก 3) การวิจัยและพัฒนาร่วมกันและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบรางขั้นแนวหน้าระหว่างกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำของฝรั่งเศสและเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาค ซึ่ง กระทรวงคมนาคม เชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะเปิดโอกาสให้ได้แบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีที่สามารถสร้างนวัตกรรม ขีดความสามารถ โอกาสทางธุรกิจ และความร่วมมือ ที่เป็นคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยและฝรั่งเศส รวมไปถึงการร่วมพัฒนาระบบขนส่งทางรางในระดับอาเซียน ภูมิภาค และนานาชาติไปด้วยกัน
การผนึกกำลังครั้งนี้ ถือเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาล ที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราง เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ให้ก้าวไกลบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน